5 ข้อต้องรู้เกี่ยวกับภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างสำหรับโรงงานและโกดังคลังสินค้า

5 ข้อต้องรู้เกี่ยวกับภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างสำหรับโรงงานและโกดังคลังสินค้า

5 ข้อต้องรู้เกี่ยวกับภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างสำหรับโรงงานและโกดังคลังสินค้า

บทความก่อนหน้านี้เราได้พูดถึงภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างที่เพิ่งมีผลบังคับใช้ปี พ.ศ. 2563 (อ่านบทความ Click!) และเริ่มมีการชำระภาษีครั้งแรกเมื่อเดือนสิงหาคม พ.ศ.2563 ที่ผ่านมานี้ค่ะ ซึ่งปีนี้ถือเป็นเรื่องดีมากที่ ครม. มีมติลดภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างของปี 2563 ลงให้ 90% พร้อมเลื่อนการจ่ายภาษีให้เป็นเดือนสิงหาคม เพื่อเป็นการบรรเทาภาระจากผลกระทบจากโควิดให้แก่ประชาชนและผู้ประกอบการ ซึ่งถือได้ว่าปี 2563 เป็นการซ้อมและเตรียมพร้อมที่จะจ่ายภาษีในอัตราเต็มในปีถัดๆไปค่ะ

วันนี้เราจะพาไปเจาะลึกภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างสำหรับโรงงานและโกดังคลังสินค้าโดยเฉพาะ ไปดูกันว่าภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างของอสังหาริมทรัพย์ประเภทนี้นั้นมีวิธีการคำนวณภาษีอย่างไร มีข้อมูลใดบ้างที่เข้ามาเกี่ยวข้องเพื่อให้ท่านสามารถคำนวณจำนวนภาษีที่ท่านต้องจ่ายได้ด้วยตัวเอง อีกทั้งยังสามารถนำไว้เป็นข้อมูลเปรียบเทียบกับการคำนวณของทางราชการว่าถูกต้องตรงกันหรือไม่ค่ะ และมีวิธีการชำระภาษีอย่างไร ตามไปอ่านกันได้เลยค่ะกับ 5 ข้อต้องรู้เกี่ยวกับภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างสำหรับโรงงานและโกดังคลังสินค้า

 ภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างสำหรับโรงงานและโกดังคลังสินค้า

5 ข้อต้องรู้เกี่ยวกับภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างสำหรับโรงงานและโกดังคลังสินค้า

 1. ข้อมูลทั่วไปเกี่ยวกับภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง

ภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างเริ่มมีผลบังคับเมื่อวันที่ 1 มกราคม พ.ศ. 2563 เป็นภาษีที่นำมาแทนภาษีโรงเรือนที่ถูกยกเลิกไป โดยผู้เป็นเจ้าของที่ดินหรือสิ่งปลูกสร้างจะเป็นผู้มีหน้าที่ดำเนินการชำระภาษีในทุกๆปี  โดยความเป็นเจ้าของที่ว่าจะดูกันตั้งแต่วันที่ 1 มกราคมของทุกปี เช่น ถ้าวันที่  1 มกราคม 2563 มีชื่อท่านเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ที่ดินหรือสิ่งปลูกสร้างนั้น ก็หมายถึงท่านต้องทำหน้าที่เสียภาษีที่ดินและปลูกสร้างนั้น ๆ นั่นเองค่ะ ภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง นั้นคำนวณจากราคาประเมินที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง นำมาคูณด้วยอัตราภาษีตามประเภทการใช้งานที่กฎหมายกำหนด โดยแบ่งตามประโยชน์การใช้งาน ได้แก่ 1. เกษตรกรรม 2. ที่อยู่อาศัย  3. อื่นๆที่ไม่ใช่เกษตรกรรมและที่อยู่อาศัย 4. ที่รกร้างว่างเปล่า

สามารถดูอัตราภาษี การยกเว้นภาษี และข้อมูลอื่นๆของภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างเพิ่มเติมได้ที่บทความ 7 ข้อต้องรู้เกี่ยวกับภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง พ.ศ. 2562

 

2. ภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างสำหรับโรงงานและโกดังคลังสินค้า

สำหรับโรงงานและโกดังคลังสินค้าจะจัดอยู่ใน “ประเภทที่ดินและสิ่งปลูกสร้างอื่นๆ”  ซึ่งถูกจัดรวมประเภทการใช้ประโยชน์ไว้ในประเภทเดียวกับที่ดินและสิ่งปลูกสร้างที่ใช้ประโยชน์ในด้าน พาณิชยกรรมและอุตสาหกรรม เช่น โรงงาน โกดัง คลังสินค้า โชว์รูม อาคารสำนักงาน โรงแรม ห้างสรรพสินค้า ร้านค้า ร้านอาหาร เป็นต้น

อัตราภาษีใน 2 ปีแรก คือปี พ.ศ. 2563 และ 2564 ของที่ดินและสิ่งปลูกสร้างที่ใช้ประโยชน์เป็นโรงงานและโกดังคลังสินค้าหรือประเภทอื่นๆนั้นได้แก่

มูลค่าไม่เกิน 50 ล้านบาท คิดอัตราภาษี  0.3 %

มูลค่า  50 - 200 ล้านบาท คิดอัตราภาษี  0.4 %

มูลค่า  200-1,000 ล้านบาท คิดอัตราภาษี  0.5 %

มูลค่า  1,000- 5,000 ล้านบาท คิดอัตราภาษี  0.6 %

มูลค่า  5,000 ล้านบาทขึ้นไป  คิดอัตราภาษี  0.7 %

 อัตราภาษ๊ที่ดินและสิ่งปลูกสร้างโรงงาน โกดัง คลังสินค้า

สำหรับอัตราภาษีสำหรับปี พ.ศ. 2565 เป็นต้นไป ของที่ดินและสิ่งปลูกสร้างที่ใช้ประโยชน์เป็นโรงงานและโกดังคลังสินค้าหรือประเภทอื่นๆนั้นจะอยู่ที่ ไม่เกิน 1.2 %

 

3. ขั้นตอนการตรวจสอบภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างสำหรับโรงงานและโกดังคลังสินค้า

ในทุกต้นปีประมาณเดือน มกราคม ถึง กุมภาพันธ์ ผู้มีหน้าที่เสียภาษีจะได้รับบัญชีรายการที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง โดยท่านจะต้องดำเนินการตรวจสอบ ความเป็นเจ้าของว่าท่านยังเป็นเจ้าของทรัพย์นี้อยู่หรือไม่( ณ วันที่ 1 มกราคม ของทุกปี ) ประเภทการใช้ประโยชน์หากเป็นโรงงานและโกดังคลังสินค้าจะจัดอยู่ในช่อง "อื่นๆ" อีกทั้งต้องตรวจสอบขนาดของที่ดินและขนาดอาคารว่าถูกต้องหรือไม่ รวมถึงรายละเอียดอื่นๆที่อาจมีระบุมาในรายการแจ้งข้อมูล เช่น ลักษณะสิ่งปลูกสร้าง อายุสิ่งปลูกสร้าง เป็นต้น หากพบว่ามีข้อมูลที่ไม่ถูกต้องควรยื่นแก้ไขที่สำนักงานเขต องค์การบริหารส่วนตำบล หรือท้องถิ่นที่ที่ดินและสิ่งปลูกสร้างของท่านตั้งอยู่โดยทันทีค่ะ

ตัวอย่างแบบบัญชีรายการที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง

แบบบัญชีรายการที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง


หลังจากนั้นท่านจะได้รับแบบแจ้งการประเมินภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างโดยองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นเป็นผู้ประเมินให้ ซึ่งท่านจะได้รับแบบแจ้งประเมินนี้ภายในเดือนกุมภาพันธ์ของทุกปี โดยเป็นจดหมายราชการพร้อมแนบรายการในการคำนวณภาษีทั้งในส่วนของที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง ซึ่งท่านควรตรวจสอบวิธีการคำนวณโดยละเอียด สามารถดูวิธีการคำนวณโดยละเอียดได้ในข้อ 5 ด้านล่างนี้ค่ะ


โดยแบบประเมินจะประกอบไปด้วยเอกสารดังต่อไปนี้ค่ะ

1. รายการที่ดินหรือสิ่งปลูกสร้าง

2. แบบแสดงรายการคำนวณภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง

3. หนังสือสรุปจำนวนภาษีที่ต้องชำระ วิธีการชำระ กำหนดการชำระภาษี สถานที่และชื่อเจ้าหน้าที่สำหรับติดต่อ และวิธีการอุทรณ์หากพบข้อผิดพลาด


ตัวอย่างแบบใบแจ้งการประเมินภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง

แบบใบแจ้งการประเมินภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง

 

4. วิธีการคำนวณและตรวจสอบภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างสำหรับโรงงานและโกดังคลังสินค้า

สามารถตรวจสอบความถูกต้องของใบแจ้งการประเมินภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง โดยดูได้จากตัวอย่างใบแจ้งด้านล่างและวิธีการคำควณตามหมายเลขดังนี้


ตัวอย่างแบบแสดงรายการคำนวณภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง

วิธีการคำนวนภาษีที่ดินและสิ่งปลูสร้าง โรงงาน โกดัง คลังสินค้า

หมายเลข 1 ตรวจสอบเลขโฉนดว่าถูกต้อง และเป็นโฉนดที่ดินที่ท่านครอบครองอยู่จริงหรือไม่

 

หมายเลข 2 ตรวจสอบลักษณะการทำประโยชน์ ในตัวอย่างคือเลข 3 ซึ่งหมายถึงการทำประโยชน์อื่นๆ , หากเป็นเลข 1 จะหมายถึงการทำประโยชน์เพื่อเป็นเกษตรกรรม, เลข 2 ใช้ประโยชน์เพื่อเป็นที่อยู่อาศัย, เลข 4 ที่ว่างเปล่าไม่ได้ใช้ประโยชน์, เลข 5 ใช้ประโยชน์หลายประเภท

 

หมายเลข 3 ตรวจสอบจำนวนเนื้อที่ดินว่าถูกต้องตรงตามโฉนดของเราหรือไม่

 

หมายเลข 4 ตรวจสอบการคำนวณเป็นตารางวา โดยมีวิธีการดังนี้

1 ไร่               เท่ากับ              400 ตารางวา

1 งาน            เท่ากับ               100 ตารางวา

ดังนั้นตามตัวอย่างขนาดที่ดิน 3 ไร่ 3 งาน 60.2 ตารางวา จะเท่ากับจำนวนตารางวา

(3 ไร่ x400) + (3 งาน x100)+ 60.2 = 1,560.2 ตารางวา

 

หมายเลข 5 ตรวจสอบราคาประเมินของที่ดินต่อตารางวาของโฉนดนี้

ราคาประเมินที่ดินสามารถตรวจสอบได้จากเวบไซต์ http://property.treasury.go.th/pvmwebsite/

โดยคลิ๊กไปที่ “ราคาที่ดินจากเลขโฉนด” จากนั้นใส่เลขที่โฉนด หน้าสำรวจ และจังหวัดที่ที่ดินตั้งอยู่ให้ครบถ้วน หรือสามารถสอบถามราคาประเมินที่ดินจากกรมธนารักษ์ทางโทรศัพท์ได้ที่หมายเลข 02-142-2465 ถึง 7

เราจะได้ข้อมูลโฉนดและราคาประเมินต่อตารางวาขึ้นมาค่ะ ตามโฉนดในตัวอย่างราคาประเมินจะอยู่ที่ 17,500 บาทต่อตารางวา ซึ่งตรงกันกับข้อมูลในหมายเลข 5 ค่ะ

 

หมายเลข 6 ตรวจสอบมูลค่าราคาประเมินของที่ดินโฉนดนี้

โดยสามารถคำนวณได้จาก พื้นที่จำนวนตารางวา(หมายเลข4) คูณด้วย ราคาประเมินที่ดินต่อตารางวา(หมายเลข5)

ดังนั้นตามตัวเลขในตัวอย่าง

1,560.2 ตารางวา x 17,500 บาท = 27,303,500 บาท ซึ่งเป็นมูลค่าของที่ดินตามราคาประเมินของโฉนดนี้

 

หมายเลข 7 ตรวจสอบประเภทของสิ่งปลูกสร้าง โดยประเภทของสิ่งปลูกสร้างนั้นต้องระบุไว้เพื่อนำไปประกอบการดูราคาประเมินของสิ่งปลูกสร้าง ซึ่งราคาประเมินนั้นจะแตกต่างกันออกไปค่ะ ประเภทของสิ่งปลูกสร้างนั้นถูกแบ่งไว้ทั้งหมด 31 แบบเช่น บ้านเดี่ยว ตึกแถว สำนักงาน โรงงาน คลังสินค้า เป็นต้น สามารถดูรายละเอียดเพิ่มเติมได้ในลิงค์ด้านล่างค่ะ

http://property.treasury.go.th/pvmwebsite/search_data/detail.pdf

โดยประเภทของสิ่งปลูกสร้างที่เกี่ยวข้องกับโรงงานและโกดังคลังสินค้าจะมี 3 ประเภทด้วยกันคือ "คลังสินค้าพื้นที่ไม่เกิน 300 ตารางเมตร", "คลังสินค้าพื้นที่เกินกว่า 300 ตารางเมตร",  และ "โรงงาน" โดยนิยามของคลังสินค้าและโรงงานมีความแตกต่างกันดังนี้

"คลังสินค้า" คือ สิ่งปลูกสร้างหรืออาคารที่ใช้เป็นที่สําหรับเก็บสินค้าหรือสิ่งของเพื่อ ประโยชน์ทางการค้าหรืออุตสาหกรรม

"โรงงาน" คือ สิ่งปลูกสร้างหรืออาคารที่ใช้สําหรับทํา ผลิต ประกอบ บรรจุ ซ่อมบํารุง ทดสอบ ปรับปรุง แปรสภาพ ลําเลียง เก็บรักษา หรือทําลายสิ่งใดๆ โดยใช้เครื่องจักรหรือไม่ก็ตาม

 

หมายเลข 8 ตรวจสอบขนาดพื้นที่สิ่งปลูกสร้างที่อยู่บนโฉนดนี้ว่าถูกต้องหรือไม่ โดยจะมีหน่วยของขนาดเป็นตารางเมตร ในตัวอย่างจะเป็นอาคารคลังสินค้าที่มีขนาด 5,500 ตารางเมตร

 

หมายเลข 9 ตรวจสอบราคาประเมินต่อตารางเมตรของสิ่งปลูกสร้าง

ราคาประเมินต่อตารางเมตรของสิ่งปลูกสร้างนั้นจะแตกต่างกันออกไปตามจังหวัดและประเภทของสิ่งปลูกสร้าง โดยราคาประเมินของสิ่งปลูกสร้างนั้นดูได้จาก http://property.treasury.go.th/pvmwebsite/  เช่นเดี่ยวกันค่ะและคลิ๊กไปที่ “ราคาประเมินสิ่งปลูกสร้าง” จากนั้นเลือกจังหวัดและประเภทของสิ่งปลูกสร้าง ซึ่งตามตัวอย่างนี้คือ จังหวัดสมุทรปราการและประเภทสิ่งปลูกสร้างคือ "คลังสินค้าพื้นที่เกินกว่า 300 ตารางเมตร" จะได้เป็นราคาประเมินสิ่งปลูกสร้าง 3,350 บาทต่อตารางเมตรขึ้นมาค่ะ

 

หมายเลข 10 ตรวจสอบมูลค่ารวมตามราคาประเมินของสิ่งปลูกสร้างนี้ โดยคำนวณได้จาก

ขนาดพื้นที่ของสิ่งปลูกสร้าง(หมายเลข8) x ราคาประเมินต่อตารางเมตรของสิ่งปลูกสร้าง(หมายเลข9)

ตามตัวอย่างจะเท่ากับขนาดคลังสินค้า 5,500 ตารางเมตร คูณด้วยราคาประเมิณ 3,350 บาท = 18,425,000 บาท

 

หมายเลข 11 ตรวจสอบอายุของสิ่งปลูกสร้างเพื่อเตรียมนำไปคำนวณค่าเสื่อม ในตัวอย่างคือ คลังสินค้าอายุ 15 ปี

 

หมายเลข 12 ตรวจสอบมูลค่าค่าเสื่อมโดยมีวิธีการคำนวณดังต่อไปนี้

ร้อยละของค่าเสื่อมสามารถดูได้จากตารางด้านล่างนี้ค่ะ

http://property.treasury.go.th/pvmwebsite/search_data/deprice.htm

ตามตัวอย่าง อาคารประเภทตึกอายุ 15 ปี ดังนั้นจำนวนร้อยละของค่าเสื่อมจะอยู่ที่ร้อยละ 20

มูลค่าค่าเสื่อม = มูลค่าสิ่งปลูกสร้าง(หมายเลข10) x ค่าเสื่อมร้อยละ 20

ดังนั้นมูลค่าค่าเสื่อมจะเท่ากับ 18,425,000 บาท X ร้อยละ 20 = 3,685,000 บาท

 

หมายเลข 13 ตรวจสอบมูลค่าสิ่งปลูกสร้างตามราคาประเมินหักด้วยค่าเสื่อม

มูลค่าสิ่งปลูกสร้าง(หมายเลข10)- ค่าเสื่อม(หมายเลข12)

ตามตัวอย่างจะเท่ากับ 18,425,000 บาท - 3,685,000 บาท = 14,740,000 บาท

 

หมายเลข 14 ตรวจสอบราคาประเมินรวมของที่ดินและสิ่งปลูกสร้างที่หักค่าเสื่อมแล้ว โดยคิดจาก

มูลค่าราคาประเมินของที่ดิน(หมายเลข6) + มูลค่าสิ่งปลูกสร้างตามราคาประเมินหักด้วยค่าเสื่อมแล้ว(หมายเลข13)

ตามตัวอย่างจะเท่ากับ 27,303,500 บาท + 14,740,000 บาท = 42,043,500 บาท

 

หมายเลข 15 ตรวจสอบอัตราภาษีร้อยละสำหรับที่ดินและสิ่งปลูกสร้างประเภทนี้ตามมูลค่ารวมของที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง

ซึ่งจะเป็นประเภทอื่นๆ ที่มูลค่าไม่เกิน 50 ล้านบาท จะมีอัตราภาษีอยู่ที่ร้อยละ 0.3

 

หมายเลข 16 ตรวจสอบจำนวนภาษีที่ต้องชำระ โดยคำนวณได้จาก

ราคาประเมินรวมของที่ดินและสิ่งปลูกสร้างที่หักค่าเสื่อมแล้ว(หมายเลข14) X อัตราภาษีร้อยละของภาษี(หมายเลข15)

ตามตัวอย่างจะเท่ากับ 42,043,500 บาท X ร้อยละ 0.3 = 126,130.5 บาท


ดังนั้นจำนวนภาษีที่ต้องเสียของที่ดินและสิ่งปลูกสร้างตามโฉนดนี้หากไม่มีการลดภาษีให้จะเท่ากับ 126,130.5 บาทค่ะ

แต่สำหรับปี พ.ศ.2563 ครม. มีมติลดภาษีให้ถึงร้อยละ 90 ดังนี้สำหรับปี 2563 ภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างที่ต้องจ่ายสำหรับโฉนดนี้จำนวนเท่ากับ 12,613 บาทค่ะ

 

5. ขั้นตอนการจ่ายภาษีภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างสำหรับโรงงานและโกดังคลังสินค้า

การจัดเก็บภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างไม่เกี่ยวข้องกับกรมสรรพากร แต่จะเกี่ยวข้องกับสำนักงานบริหารส่วนท้องถิ่นนั้นๆที่ที่ดินและสิ่งปลูกสร้างตั้งอยู่ค่ะ เช่น องค์การบริหารส่วนตำบล (อบต.) และสำนักงานเขตต่างๆ โดยองค์การปกครองส่วนท้องถิ่นหรือสำนักงานเขตจะแจ้งการประเมินภาษีแก่ผู้มีหน้าที่เสียภาษีภายในเดือน กุมภาพันธ์ ของทุกปี

ผู้มีหน้าที่เสียภาษีต้องชำระภาษีภายในวันที่ 30 เมษายน ของทุกปี หากไม่มีการประกาศเลื่อนกำหนดชำระจากองกรห์บริหารส่วนท้องถิ่นหรือจากทางภาครัฐ

ผู้มีหน้าที่ชำระภาษีสามารถชำระภาษีได้ที่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นตามที่ที่ดินหรือสิ่งปลูกสร้างตั้งอยู่เช่น เทศบาล, องค์การบริหารส่วนตำบล, สำนักงานเขต เป็นต้น ในกรณีที่ผู้เสียภาษีเห็นว่าการประเมินภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างที่ไม่ถูกต้องตามความเป็นจริง ให้ผู้เสียภาษียื่นอุทรณ์ได้ภายใน 30 วันนับตั้งแต่การได้รับแจ้งการประเมินภาษี เพื่อขอแก้ไขให้ถูกต้องได้ค่ะ

สามารถผ่อนชำระภาษีได้ หากมียอดชำระเกิน 3000 บาทขึ้นไป และต้องทำหนังสือยื่นต่ออบต.หรือสำนักงานเขตนั้นๆ โดยต้องยื่นหนังสือขอผ่อนชำระภาษีก่อนชำระค่าภาษีงวดแรก สามารถแบ่งชำระภาษีได้ไม่เกิน 3 งวด งวดละเท่าๆกัน ดังนี้ 

  1. งวดที่ 1 ภายในเดือนเมษายน
  2. งวดที่ 2 ภายในเดือนพฤษภาคม
  3. งวดที่ 3 ภายในเดือนมิถุนายน

หากดำเนินการชำระภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างเรียบร้อยแล้ว ท่านจะได้รับใบเสร็จรับเงินในการชำระภาษีในครั้งนี้ซึ่งควรตรวจสอบความถูกต้องและเก็บไว้เป็นหลักฐานเผื่อต้องใช้อ้างอิงในอนาคตค่ะ


ตัวอย่างใบเสร็จรับเงินภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง

ตัวอย่างใบเสร็จรับเงินภาษ๊ที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง

 

โดยสรุปถึงแม้ว่าขึ้นตอนการเสียภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างนั้นจะเป็นเรื่องที่ใหม่สำหรับหลายๆท่าน อีกทั้งยังอาจดูยุ่งยากและมีหลายขั้นตอน แต่อย่างไรก็ตามการตรวจสอบข้อมูลและการคิดภาษีให้ถูกต้องตรงกันนั้นเป็นเรื่องที่สำคัญมากเนื่องจากภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างของโรงงานและโกดังคลังสินค้านั้นมักจะมีจำนวนภาษีที่ต้องชำระมากกว่าอสังหาริมทรัพย์ประเภทอื่นๆ หากไม่ตรวจสอบให้ดีอาจโดนเก็บภาษีเกินกว่าที่ต้องชำระจากข้อมูลที่ผิดพลาดก็อาจเกิดขึ้นได้ค่ะ อีกทั้งการเสียภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างเป็นหน้าที่ของผู้ถือครองที่ดินและสิ่งปลูกสร้างทุกคนที่จะต้องชำระภาษีและให้ข้อมูลที่ถูกต้องตามกฏหมายค่ะ

 

หากสนใจโรงงานให้เช่า โกดังให้เช่าและคลังสินค้าให้เช่า คุณภาพสูงฟังก์ชั่นครบครัน ใส่ใจทุกรายละเอียด โลเคชั่นดีเยี่ยม บริการซ่อมแซมด่วนฟรีตลอดสัญญาเช่า มีบริการบำรุงรักษาอาคารให้ผู้เช่าอยู่เสมอและมีบริการรีโนเวทปรับปรุงอาคารให้ผู้เช่าให้เหมือนใหม่เมื่อถึงกำหนดเวลาโดยไม่มีค่าใช้จ่ายเพิ่มเติม พร้อมบริการพิเศษดีๆแบบครบวงจร อีกทั้งตั้งอยู่ในโครงการความปลอดภัยสูง รปภ. ดูแล 24 ชั่วโมง ระบบ CCTV รอบโครงการ ติดต่อเราได้นะคะ  ดูข้อมูลเพิ่มเติมได้ตามลิงค์ด้านล่างนี้ค่ะ

 

 

โรงงานให้เช่า

  คลังสินค้าให้เช่า โกดังให้เช่า

Sources:

http://www.fpo.go.th/main/General-information-public-service/%E0%B8%9B%E0%B8%A3%E0%B8%B0%E0%B8%8A%E0%B8%B2%E0%B8%8A%E0%B8%99%E0%B8%84%E0%B8%A7%E0%B8%A3%E0%B8%A3%E0%B8%B9%E0%B9%89/%E0%B8%A0%E0%B8%B2%E0%B8%A9%E0%B8%B5%E0%B8%97%E0%B8%B5%E0%B9%88%E0%B8%94%E0%B8%B4%E0%B8%99%E0%B9%81%E0%B8%A5%E0%B8%B0%E0%B8%AA%E0%B8%B4%E0%B9%88%E0%B8%87%E0%B8%9B%E0%B8%A5%E0%B8%B9%E0%B8%81%E0%B8%AA%E0%B8%A3%E0%B9%89%E0%B8%B2%E0%B8%87.aspx

https://www.itax.in.th/pedia/%E0%B8%A0%E0%B8%B2%E0%B8%A9%E0%B8%B5%E0%B8%97%E0%B8%B5%E0%B9%88%E0%B8%94%E0%B8%B4%E0%B8%99/

 https://www.proindsolutions.com/17397699/7-%E0%B8%82%E0%B9%89%E0%B8%AD%E0%B8%95%E0%B9%89%E0%B8%AD%E0%B8%87%E0%B8%A3%E0%B8%B9%E0%B9%89%E0%B9%80%E0%B8%81%E0%B8%B5%E0%B9%88%E0%B8%A2%E0%B8%A7%E0%B8%81%E0%B8%B1%E0%B8%9A%E0%B8%A0%E0%B8%B2%E0%B8%A9%E0%B8%B5%E0%B8%97%E0%B8%B5%E0%B9%88%E0%B8%94%E0%B8%B4%E0%B8%99%E0%B9%81%E0%B8%A5%E0%B8%B0%E0%B8%AA%E0%B8%B4%E0%B9%88%E0%B8%87%E0%B8%9B%E0%B8%A5%E0%B8%B9%E0%B8%81%E0%B8%AA%E0%B8%A3%E0%B9%89%E0%B8%B2%E0%B8%87-%E0%B8%9E%E0%B8%A8-2562

 

 

Visitors: 262,969